วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

DSM ลงทุนหุ้นแบบซื้อสินทรัพย์เพื่อสร้างกระแสเงินสด (แบบมั่ว ๆ และดัดแปลงตามที่เข้าใจ)

DSM ย่อมาจาก Densri Method เป็นชื่อของคุณเด่นศรีผู้คิดค้นวิธีการลงทุนนี้

เป็นวิธีการลงทุนที่อาศัยความผันผวนของราคาหุ้นในการดึงเงินสดออกมา และเพิ่มจำนวนหุ้นโดยใช้เงินสดที่ดึงออกมาได้จากระบบ

หัวใจสำคัญของวิธีการลงทุนนี้คือ

1.การวางแผนการซื้อขาย ซึ่งมีกฎหลักอยู่สองอย่างคือ มีเวลาไม่จำกัดในการซื้อคืน และซื้อคืนให้ต่ำกว่าตอนขาย
2.ระบบบัญชี ที่จะทำให้มองเห็นภาพรวม กระแสเงินสดที่ดึงออกมาได้จากระบบ จำนวนหุ้นและราคาที่ซื้อเพิ่มหรือซื้อคืนได้

วิธีการที่ผมใช้ตอนนี้

การลงทุนแบบ DSM นั้นเป็นวิธีที่ไม่มีการสอน ไม่มีใครทราบวิธีที่ถูกต้องแน่นอน มีเพียงการคาดเดาไปต่าง ๆ นานา แต่ยึดหลักสำคัญตามที่กล่าวไว้ข้างบน ทำให้มีหลากหลายวิธีมากเวลาค้นหาวิธีการลงทุนแบบ DSM ของแต่ละท่านที่แชร์กัน วิธีที่ผมทดลองใช้ตอนนี้ก็คือ

1. เลือกหุ้นที่เราตั้งใจจะถือหรือเป็นเจ้าของบริษัทไปตลอดชีวิตหรือนานที่สุดหลาย ๆ ปี ถ้าไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรต่อพื้นฐานของบริษัท โดยมีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ควรพิจารณา คือ
    1.1 มีปริมาณการซื้อขายต่อวันพอสมควร โดยอาจกำหนดว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1-2 ปี มากกว่า 10 ล้านบาท ยิ่งหุ้นมีความผันผวนขึ้นลงได้ง่ายยิ่งมีโอกาสสร้างกระแสเงินสดมาก  อาจดูกราฟราคาย้อนหลังประกอบการตัดสินใจเลือกหุ้นด้วย เพราะหุ้นบางตัวปริมาณการซื้อขายต่อวันมาก แต่ไม่ค่อยมีการแกว่งตัวของราคามากเท่าไหร่ นิ่งอยู่ที่เดิมหรือแกว่งน้อยเกินไป ก็ทำให้ไม่ค่อยมีโอกาสดึงกระแสเงินสดออกมาจากความผันผวนมากเท่าไหร่
    1.2 หุ้นในพอร์ตไม่ควรกระจุกตัวอยู่ sector ใด sector หนึ่งมากเกินไป เวลาหุ้นนิ่งมันมักจะชอบนิ่งเหมือน ๆ กันทั้ง sector ทั้งกลุ่ม
    1.3 สามารถซื้อหุ้นได้อย่างน้อย 10,000 หุ้นขึ้นไป เพื่อการแบ่งสัดส่วนการซื้อขายที่ง่ายและสะดวก หรือถ้าเป็นหุ้นที่อยากได้จริง ๆ ก็ไม่ควรต่ำกว่า 1,000 หุ้น เพราะเวลาแบ่งขายจะได้แบ่งได้ไม่ต่ำกว่า 10 ส่วน

2. หลังจากซื้อหุ้นได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ใช้ราคาที่ซื้อหุ้นเป็นจุดอ้างอิง  เช่น ซื้อลงทุนหุ้นที่ 10.00 บาท ราคาอ้างอิงคือ 10.00
    2.1 ถ้าหุ้นขึ้นไป 2 ช่องจากจุดอ้างอิง ถ้างบของหุ้นนั้นยังเหลือ ให้ซื้อ 10% ของจำนวนหุ้นที่ลงทุน  และขยับจุดอ้างอิงขึ้นไปที่ราคานั้น เช่นหลังจากซื้อหุ้นที่ 10.00 บาทแล้วหุ้นขึ้นไปที่ 10.20 (2 ช่อง) ราคาอ้างอิงก็จะกลายเป็น 10.20 แต่ถ้างบในการซื้อหุ้นตัวนั้นหมดแล้ว ให้ขยับเฉพาะราคาอ้างอิงขึ้นไปแต่ไม่ต้องซื้อเพิ่ม จนกว่าราคาจะวกกลับลงมา 3 ช่องจากจุดอ้างอิง จึงขยับจุดอ้างอิงกลับลงมา และขาย 10 %
    2.2 ถ้าหุ้นลงมา 2 ช่องจากจุดอ้างอิง ให้ขาย 10% ของจำนวนหุ้นลงทุน และขยับจุดอ้างอิงลงมา แต่ถ้าหุ้นหมดมือ ให้ขยับจุดอ้างอิงลงมาเรื่อย ๆ จนกว่าราคาจะวกกลับขึ้นไปจากจุดอ้างอิง 3 ช่องจึงขยับจุดอ้างอิงขึ้นไป และเริ่มซื้อกลับ 10%
    2.3 จุดอ้างอิงของขาขึ้น(ซื้อ) กับ จุดอ้างอิงของขาลง (ขาย) ไม่ควรจะซ้ำกัน ควรสลับฟันปลากันจะได้ไม่งงในการซื้อขาย และสะดวกในการลงบัญชี เช่น ซื้อหุ้นที่ 10.00 บาท จุดอ้างอิงถัดไปของขาขึ้นหรือฝั่งซื้อควรจะเป็น 10.20 10.40 10.60 10.80 ในขณะที่ฝั่งขายควรเป็นที่ราคา 10.30 10.50 10.70 10.90 ตรงนี้อาจจะงง แต่ถ้าลองทำเป็นตารางน่าจะเห็นภาพง่ายกว่า

3. ทำบัญชีการซื้อขาย จับคู่ตำแหน่งที่ราคาหุ้นสร้างกระแสเงินสดให้เราได้ (ซื้อต่ำกว่าขาย) ส่วนที่ยังจับคู่ไม่ได้ก็ลงบัญชีทิ้งไว้เพื่อรอจับคู่

4.กระแสเงินสดจะมีอยู่สองส่วนคือ กระแสเงินสดอิสระ ส่วนนี้เราจะสามารถนำไปสะสมซื้อหุ้นตัวใหม่, ซื้อเพิ่มจำนวนหุ้นตัวเดิม หรือดึงบางส่วนออกมาสู่บัญชีใช้จ่ายก็ได้ กับอีกส่วนคือกระแสเงินสดจากการขายหุ้น ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นงบประมาณเงินสดสำหรับซื้อหุ้นตัวเดิม ในกรณีที่หุ้นขึ้นไปแล้วซื้อคืนยังไม่ได้ ถ้าหุ้นขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราซื้อจนหมดงบที่ได้จากกระแสเงินสดจากการขายหุ้น แล้วหุ้นยังขึ้นไปต่อ ก็ไม่ต้องซื้อเพิ่มแล้ว รอหุ้นลงจึงค่อยขาย ถ้าขายแล้วหุ้นยังขึ้นไปอีก ก็ใช้เงินนั้นซื้อหุ้นเพิ่มตามงบที่มี วนไปเรื่อย ๆ ........ ทั้งสองส่วนนี้ต้องทำบัญชีให้ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อช่วยในการตัดสินใจ และทราบทิศทางว่าควรซื้อ ถือ ขาย อย่างไร ต่อไปได้

เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ และไม่หลงทางในการลงทุนด้วยระบบนี้
เราควรมองในภาพรวม คล้าย ๆ การลงทุนในสินทรัพย์เพื่อสร้างกระแสเงินสด 



1. ให้มองเหมือนกับเรากำลังซื้อสินทรัพย์อย่างเช่น บ้าน หรือตึกมาจำนวนหนึ่ง (การซื้อหุ้นเพื่อลงทุนครั้งแรก) แล้วปล่อยให้เช่าสร้างกระแสเงินสดรับอย่างต่อเนื่อง

2. โดยการเช่านั้นจะเหมือนกับเราได้รับเงินมัดจำก่อน (ขายหุ้นเมื่อลงจากจุดอ้างอิงทีละ 2 ช่อง)

3. เมื่อผู้เช่าจะย้ายออก จึงคืนเงินค่ามัดจำที่หักค่าเช่าแล้ว (ซื้อหุ้นคืนตามจุดที่ซื้อคืนได้)

4. ส่วนต่างก็จะเป็นค่าเช่า (กระแสเงินสดอิสระ) ที่เราได้รับ

5. ส่วนหุ้นที่ซื้อคืนไม่ได้ก็เหมือนกับผู้เช่ายังไม่ได้ย้ายออกไปไหน ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่า แต่เงินมัดจำอยู่กับเรา (เงินที่ขายหุ้นออกไปแล้วยังซื้อคืนไม่ได้)

6. เมื่อเห็นว่าอีกนานกว่าจะได้ค่าเช่าจากผู้เช่ารายนี้ ก็เอาเงินมัดจำที่เค้าจ่ายไว้ไปซื้อห้องใหม่เพื่อเปิดให้เช่าเพิ่มแทนเลย (ซื้อหุ้นเพิ่มที่ราคาข้างบน เมื่อเห็นว่าราคาขึ้นไปพอสมควร ซื้อคืนราคาด้านล่างคงอีกนาน หรือต้องรอขาลงรอบใหม่)

7. ตรงนี้อาจจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดดี ๆ ถ้าเกิดผู้เช่าต้องการออก แล้วไม่มีเงินมัดจำมาจ่าย ก็อาจเดือดร้อนได้ (เหมือนซื้อหุ้นเพิ่มไปแล้ว แต่หุ้นดันลงแรง แล้วไม่มีเงินซื้อจับคู่คืน) ประสบการณ์จะช่วยให้จัดการตรงนี้ได้ดีขึ้น สำหรับมือใหม่ แนะนำว่าให้ลงทุนซื้อห้องเพิ่ม 2 ห้อง เมื่อมีห้องที่ยังค้างมัดจำอยู่อีก 3 ห้อง (ซื้อหุ้นเพิ่มได้ 2 ส่วน เมื่อขายหุ้นแล้วซื้อคืนด้านล่างไม่ได้ 3 ส่วน) จะทำให้บริหารเงินสดได้ง่ายขึ้น

8. หุ้นที่เราซื้อก็เหมือนกับตึกที่เราซื้อ ถ้าเราซื้อหุ้นที่ดี มีอนาคต ก็เหมือนกับซื้อตึกที่ทำเลดี อนาคตสามารถเพิ่มค่าเช่าได้ (ส่วนต่างราคาที่จับคู่หุ้น เพื่อสร้างกระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้น)

9. ค่าเช่าที่เราได้มา (กระแสเงินสดอิสระ) เราก็สามารถบริหารได้ว่าจะนำไปลงทุนซื้อห้องเพิ่มที่ทำเลเดิม (ซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่ม), เอาไปซื้อตึกที่ทำเลใหม่ (ซื้อหุ้นตัวใหม่), เก็บไว้เป็นเงินหมุนเวียน (เป็นเหมือน buffer เผื่อเหลือเผื่อขาด กรณีข้อ 7.) หรือจะนำไปใช้ ไปลงทุนอย่างอื่นต่อไปก็ได้