กลยุทธ์การคัดกรอง ซื้อขายหุ้นแบบ CANSLIM นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีตัวอย่างบริษัทมากมายที่เข้า criteria ของ CANSLIM ก่อนที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวลาต่อมา
ตัวย่อและความหมายของแต่ละตัวใน CANSLIM
โอนีลให้ความสำคัญในการเลือกหุ้นที่มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (EPS ; Earning per Share) ในไตรมาสล่าสุดเติบโตจากปีก่อน โดยการเติบโตของ EPS ควรจะเป็นเท่าไหร่นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าค่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม แต่ระบบ CANSLIM แนะนำว่าควรเติบโตไม่ต่ำกว่า 18-20% เมื่อเทียบกับปีก่อน
กำไรที่ได้ต้องเป็นกำไรที่มีคุณภาพ มีการแสดงตัวเลขอย่างถูกต้อง เป็นมาจากการดำเนินการจริง ๆ เพราะหลาย ๆ บริษัทมีกำไรที่โตขึ้น แต่ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงานปกติ หรืออาจเป็นการใช้วิธีการทางบัญชีทำให้ได้ตัวเลขสูงกว่าความเป็นจริง นักลงทุนต้องเจาะข้อมูลตรงนี้ให้ละเอียด อย่าเพียงแค่ดูตัวเลขที่แสดงในงบกำไรขาดทุน โอนีลกล่าวว่า ถ้าคุณแน่ใจแล้วว่ากำไรของบริษัทนั้นเป็นกำไรที่มีคุณภาพจริง อีกสิ่งที่ควรทำก็คือการเช็คกำไรของบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน กำไรที่เติบโตอย่างมั่นคงของอุตสาหกรรมเป็นสิ่งยืนยันว่าอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง และบริษัทก็พร้อมที่จะทุบสถิติทั้งกำไรและราคา
A = Annual earnings
บริษัทต้องมีการเติบโตของกำไร (EPS) ต่อปีที่ดีในช่วง 5 ปีล่าสุด ข้อนี้เป็นการนำแนวความคิดของ Value Investor หรือนักลงทุนเน้นคุณค่า มาปรับใช้ตามความคิดที่ว่าให้ลงทุนเหมือนกับเราทำธุรกิจ เราเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดให้ EPS ในแต่ละปีควรมีการเติบโต 25-50% โอนีลกล่าวว่า "ใครจะอยากเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่มีการเติบโต"
สองส่วนแรกของระบบ CANSLIM เป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณ การคัดเลือกบริษัทที่แสดงการเติบโตของกำไรอย่างมีคุณภาพทั้งรายไตรมาสและรายปี จะทำให้เรามีพื้นฐานในการเลือกบริษัทที่แข็งแกร่ง แต่ก็ยังมีเกณฑ์อีก 5 อย่างที่ต้องนำมาพิจารณาก่อนจะเลือกหุ้นได้ตามระบบ CANSLIM
N = New
เกณฑ์ที่สำคัญอีกหนึ่งข้อสำหรับระบบ CANSLIM ก็คือบริษัทนั้นเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมักจะมีความสำคัญกับบริษัททำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นทีมผู้บริหารใหม่ สินค้าใหม่ ตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งราคาหุ้นทำ new high โอนีลพบว่า 95% ของบริษัทที่เค้าทำการศึกษานั้นจะต้องเคยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ
ตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของความสำเร็จที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ก็คือ McDonald's ด้วยการเปิดตัวของแฟรนไชส์ใหม่ ทำให้บริษัทเติบโต 1100% ภายใน 4 ปี นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่น่าสนใจมากตัวอย่างหนึ่งของบริษัทที่ทำหรือแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และผู้ถือหุ้นก็ได้รับรางวัลนั้นไปพร้อม ๆ กัน
โอนีลกล่าวว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะหลีกเลี่ยงการเลือกหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่ ผู้คนมักจะกลัวว่าหุ้นที่ทำราคาที่จุดสูงสุดใหม่จะมีการลดระดับลงมาซื้อขายที่ราคาต่ำลงจากจุดสูงสุด แต่โอนีลใช้ข้อมูลที่น่าสนใจในอดีตแสดงให้เห็นว่าหุ้นที่เพิ่งทำราคาสูงสุดใหม่จะมีการซื้อขายกันที่ระดับราคาสูงขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
S = Supply and Demand
เกี่ยวกับเรื่องอุปสงค์และอุปทานของตัวหุ้น หุ้นที่มีขนาดเล็กมีปริมาณการซื้อขายสูงจะมีการขยับตัวสูงขึ้นของราคาได้ง่ายกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เนื่องจากหุ้นขนาดใหญ่ต้องอาศัย Demand ที่มากกว่าหุ้นเล็กอย่างมากจึงจะทำให้ราคาหุ้นขยับสูงขึ้นได้ในระดับที่เท่า ๆ กัน
โอนีลอธิบายว่านักลงทุนสถาบันจะถูกจำกัดให้ลงทุนแต่ในหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นบลูชิพ ซึ่่งถือเป็นข้อเสียเปรียบนักลงทุนรายย่อยอย่างมาก ที่สามารถลงทุนได้ทั้งหุ้นเล็กหุ้นใหญ่ เนื่องจาก Demand และ Supply นี่เอง การทำรายการขนาดใหญ่ของนักลงทุนสถาบันนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาหุ้นโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยนั้นการทำรายการซื้อขายจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับนักลงทุนสถาบัน สามารถเข้าออกจากการลงทุนหุ้นแต่ละตัวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นเหมือนกับนักลงทุนสถาบัน
L = Leader or Laggard
กุญแจสำคัญของการวิเคราะห์ในระบบ CANSLIM ในข้อนี้ก็คือการแยกระหว่างผู้นำกับผู้ตามในอุตสาหกรรม ในแต่ละอุตสาหกรรม ผู้นำในอุตสาหกรรมสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ถือหุ้น ในขณะที่ผู้ตามที่เหลือในอุตสาหกรรมทำได้อย่างดีที่สุดก็คือผลตอบแทนในระดับทั่ว ๆ ไป
Relative Price Strength จะมีค่าอยู่ระหว่าง 1-99 โดยที่ค่า Relative Price Strength 75 หมายถึงหุ้นนั้นมีการปรับตัวสูงขึ้นดีกว่าหุ้นอื่นในหมวดเดียวกันในอัตรา 75% ระบบ CANSLIM จะเลือกหุ้นที่มี Relative Price Strength อย่างน้อย 70 ขึ้นไป อย่างไรก็ตามโอนีลกล่าวว่าหุ้นที่มี Relative Price Strength ในช่วง 80-90 มีแนวโน้มจะเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรม
อย่าใช้อารมณ์ในการเลือกหุ้น หลาย ๆ บริษัทอาจจะดูเหมือนกับว่ามีสินค้า มี business model ที่เหมือน ๆ กันกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่อย่าลงทุนเพียงเพราะว่ามันมีราคาถูก หรือเพราะความพอใจของคุณ บริษัทที่มีราคาถูกก็จะมีเหตุผลที่มันมีราคาถูกอยู่ โดยปกติแล้วที่มันถูกก็เพราะบริษัทเป็นผู้ตามในตลาด คุณอาจจะต้องจ่ายมากกว่าสำหรับผู้นำตลาดในวันนี้ แต่ก็จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในที่สุด
I = Institutional Sponsorship
CANSLIM ให้ความสำคัญกับการลงทุนของนักลงทุนสถาบันในบริษัทด้วยเช่นกัน ถ้าบริษัทไม่มีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนเลย ก็อาจหมายถึงบริษัทยังไม่มีความน่าสนใจพอ ทำให้ผู้จัดการสถาบันกว่าพันแห่งได้มองข้ามบริษัทนั้นไป ระบบ CANSLIM จะลงทุนในบริษัทที่มีนักลงทุนสถาบันเป็นเจ้าของอยู่ประมาณ 3-10 บริษัท
แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ถ้าหุ้นที่ระบบ CANSLIM สนใจ ได้มีนักลงทุนสถาบันถือครองหุ้นอยู่เป็นปริมาณที่สูง ก็ถือได้ว่าสายเกินไปแล้วที่จะเข้าซื้อ เมื่อใดก็ตามที่สถาบันมาร่วมเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทนั้น ๆ มากเกินไป เมื่อมีข่าวร้ายใด ๆ มากระทบ ก็อาจจะทำให้ราคาหุ้นผันผวนจากการขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ทำการขายออกมา
โอนีลยังแนะนำให้ดูนักลงทุนสถาบันที่ลงทุนในบริษัทด้วยว่ามีผลงานเป็นเช่นไร เพราะนักลงทุนสถาบันถึงแม้จะมีความรู้ มีหลักการในการลงทุนเป็นที่น่าเชื่อถือเหมือนกัน แต่ผลงานการลงทุนบางสถาบันก็ทำได้ดีกว่านักลงทุนสถาบันทั่วไป
M = Market Direction
เมื่อคุณทำการเลือกหุ้นแล้ว คุณจะต้องรู้ว่าสภาพของตลาดตอนนั้นเป็นอย่างไร คุณกำลังอยู่ในตลาดที่มีทิศทางไปทางไหน เป็นหมีหรือกระทิง ถึงแม้โอนีลจะไม่ใช่นักลงทุนแบบ market timer จับจังหวะของตลาด เขาก็บอกว่าถ้านักลงทุนไม่เข้าใจว่าตลาดกำลังดำเนินไปในทิศทางไหน ท้ายที่สุดแล้วก็อาจทำให้นักลงทุนคนนั้นลงทุนสวนทิศทางของตลาดนำมาซึ่งการสูญเสียกำไรที่ควรจะได้ หรือแม้กระทั่งขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญในที่สุด
วิธีที่ดีที่สุดในการติดตามสภาวะตลาดก็คือการดูปริมาณซื้อขายและการเคลื่อนไหวของตลาดรายวัน และอาจจะใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคเข้าช่วยนักลงทุนในการมองแนวโน้มของตลาด
สรุปการเลือกหุ้นแบบ CANSLIM
- C = Current earning กำไรต่อหุ้นของไตรมาสล่าสุด ควรเติบโตขึ้นจาก Q เดียวกันของปีก่อนอย่างน้อย 18 - 20%
- A = Annual earning กำไรต่อหุ้นในแต่ละปีย้อนไป 5 ปีหลังสุดควรจะแสดงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ที่ 25-50% ต่อปี
- N = New ลงทุนในบริษัทที่มีอะไรใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น สินค้าใหม่ ทีมผู้บริหารใหม่ หรือว่ามีปัจจัย่ใหม่ ๆ ที่มีผลดีต่ออุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญที่สุดคือการที่หุ้นนั้นทำ New High
- S = Supply & Demand ควรลงทุนในบริษัทขนาดเล็กและมีจำนวนหุ้นเหมาะสม นักลงทุน CANSLIM จะไม่มองหาบริษัทเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่
- L = Leaders ลงทุนกับบริษัทผู้นำตลาด หลีกเลี่ยงผู้ตามในตลาด
- I = Institutional Sponsorship ลงทุนในหุ้นที่นักลงทุนสถาบันนิยมซื้อ และลงทุนในหุ้นที่นักลงทุนสถาบันที่มีผลงานดี (เมื่อเทียบกับนักลงทุนสถาบันทั่ว ๆ ไป ) ถือหุ้นอยู่จำนวนหนึ่ง และยังไม่มีนักลงทุนสถาบันลงทุนมากเกินไป ( 3-10 สถาบัน )
- M = Market Direction ตลาดจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะชนะหรือแพ้ ดังนั้นจงเรียนรู้วิธีการมองทิศทางของตลาดโดยรวม และการแปลผลดัชนีต่าง ๆ (การเปลี่ยนแปลงของปริมาณและราคา) รวมทั้งสังเกตการซื้อขายของผู้นำในแต่ละตลาด
โอนีลแนะนำว่า ให้ขายหุ้นตัดขาดทุ้นถ้าหุ้นนั้นตกลงมา 7-8% จากราคาที่ซื้อมาโดยไม่ต้องมีคำถาม ขายหุ้นที่ขึ้นไม่ถึง 20% ภายใน 13 สัปดาห์ และให้ถือหุ้นที่ขึ้นเกิน 20% ภายใน 4-5 สัปดาห์ หุ้นพวกนี้มักเป็นหุ้นที่ทำกำไรได้มากที่สุด นอกจากนี้ ถ้าหุ้นขึ้น 25% ภายใน 1-2 สัปดาห์เพราะอาจจะมีข่าวดี คนจึงแห่ซื้ออย่างเร่งรีบ เราก็ควรรีบขายทำกำไรเช่นกัน
CANSLIM เป็นวิธีการลงทุนที่ดี เพราะมีแนวทางการปฏิบัติในการลงทุนที่ชัดเจน และมีการรวมเอากลยุทธ์ในการลงทุนแต่ละแนวมาผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่เน้นคุณค่าของตัวบริษัท การวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน การลงทุนในหุ้นเติบโต และการวิเคราะห์ทางเทคนิคอีกเล็กน้อย
รายละเอียดข้อมูลของกลยุทธ์การลงทุนแบบ CANSLIM ยังมีอีกมาก บทความนี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งแบบย่อ ๆ เพื่อให้เข้าใจภาพรวมเท่านั้น ถ้าสนในการลงทุนแบบ CANSLIM แนะนำให้อ่านหนังสือ "How to make money in stocks" ของโอนีล เพื่อความเข้าใจระบบ CANSLIM อย่างแท้จริง
อ้างอิง :
- Stock-Picking Strategies: CAN SLIM. INVESTOPEDIA. http://www.investopedia.com/university/stockpicking/stockpicking7.asp
- "C-A-N-S-L-I-M" 7 เคล็ดลับ "วิลเลียม โอนิล". วิบูลย์ พึงประเสริฐ
http://goo.gl/JEcmoG
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น