วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ROE - อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น

     หนึ่งในหลาย ๆ อัตราส่วนที่มีความสำคัญ และใช้เป็นตัววัดความน่าสนใจในการลงทุนอย่างคร่าว ๆ สำหรับนักลงทุนระยะยาวก็คือ ROE (Return on Equity) หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มีสมการง่าย ๆ ว่า

ROE = Net Profit (กำไร) / Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) 

     โดยกำไรเอามาจากงบกำไรขาดทุน สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้น ก็หาได้จากงบดุล โดยปกติแล้วส่วนของผู้ถือหุ้นควรนำค่าตอนต้นปีและปลายปีมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น

     ROE เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถของบริษัทในการนำเงินของผู้ถือหุ้น ไปใช้ในการสร้างผลกำไร อัตราส่วนนี้แสดงค่าเป็น % โดยยิ่งมี % มากยิ่งดี แสดงว่าบริษัทนำส่วนของผู้ถือหุ้นไปใช้สร้างผลตอบแทนกลับคืนมาให้ผู้ถือหุ้นได้มาก เช่น บริษัท A มี ROE 5% บริษัท B มี ROE 15% แสดงว่าบริษัท B มีความน่าสนใจกว่า เพราะนำเงินของผู้ถือหุ้นที่จำนวนเท่า ๆ กัน ไปสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า

     การรักษาระดับ ROE ให้สูงเป็นระยะเวลานานเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากเมื่อบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานและเหลือเป็นกำไรสะสม ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในปีต่อ ๆ ไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทก็ต้องสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กันกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับของ ROE ให้เท่าเดิม ซึ่งบริษัทที่จะทำแบบนี้ได้ต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงระดับหนึ่งเลย

     นอกจากนี้ บางบริษัทอาจทำให้ ROE สูงขึ้นได้จากการกู้ยืม ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าบริษัทที่ไม่ได้กู้ยืม เช่น 
     บริษัท A มีกำไร 150 ไม่มีหนี้สินระยะยาว มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,000 ROE = 15% 
     บริษัท B มีกำไร 200 มีหนี้สินระยะยาว 1,000 มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,000 ROE = 20% 
     
     จะเห็นได้ว่าบริษัท B มี ROE สูงกว่าบริษัท A แต่มีหนี้สินพอ ๆ กับส่วนของผู้ถือหุ้น ในขณะที่บริษัท A ไม่มีหนี้เลย ดังนั้นการเปรียบเทียบว่าบริษัทใดน่าสนใจกว่า โดยการใช้ ROE เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

     และจากตัวอย่างที่ผ่านมาจึงทำให้มีอีกหนึ่งอัตราส่วนที่น่าสนใจนำมาใช้เปรียบเทียบบริษัทในกรณีดังกล่าวได้คือ ROTC (Return on Total Capital) หาได้จาก 

ROTC = Net Profit / (Long term Liability + Equity) 
(กำไรสุทธิหารด้วยผลรวมของหนี้สินระยะยาวกับส่วนของผู้ถือหุ้น)

     จากตัวอย่างเดิมจะได้
     บริษัท A มี ROTC = 150/(0+1,000) = 15%
     บริษัท B มี ROTC = 200/(1,000 + 1,000) = 10%

     ซึ่งเมื่อนำมาใช้คู่กับ ROE จะทำให้มองเห็นภาพการสร้างผลตอบแทนของบริษัทได้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น เพราะบางบริษัทถ้าดูแต่ ROE อาจมีค่าสูงกว่าอีกบริษัท แต่พอมาดู ROTC อาจมีค่าต่ำกว่าก็ได้ 

     ROE ของบริษัทยังอาจมีค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ ROE สูงขึ้นทันที ซึ่งเป็น ROE ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติของบริษัท เราจึงควรดูที่มาของ ROE ด้วยว่าคิดมาจากการดำเนินงานปกติของบริษัทหรือไม่

     นอกจากนี้ ROE ของบริษัทควรมีความสม่ำเสมอ ถ้า ROE มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป ก็สันนิษฐานได้ว่าบริษัทนั้นน่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรกำไรขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นรอบ ๆ ไม่แน่นอน ลองสำรวจ ROE ย้อนหลังไปหลาย ๆ ปีก็จะพบว่าขึ้น ๆ ลง ๆ ในรูปแบบเดียวกัน

     สรุป : เมื่อเราใช้ ROE เป็นส่วนหนึ่งในการเปรียบเทียบความน่าสนใจของหุ้น หุ้นที่มี ROE สูงกว่าจะมีความน่าสนใจกว่า เพราะสามารถนำส่วนของผู้ถือหุ้นไปสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า ROE ของบริษัทนั้นควรมีความสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคง และไม่ควรใช้ ROE ในการเปรียบเทียบบริษัทเพียงอย่างเดียว ควรใช้ ROTC ด้วย เพื่อที่จะได้เห็นภาพของบริษัทอย่างถูกต้อง

สรุปย่อ และทบทวนด้วยภาษาของตัวเอง จากแหล่งข้อมูล :
"ROE สำคัญกับการลงทุนอย่างไร"
Value Way
วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น