วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

PDCA ... Plan, Do, Check, and Act

     สิ่งที่นักลงทุนหน้าใหม่ รวมทั้งแมงเม่าหน้าเก่าในตลาดหุ้น มักจะมองข้ามไปในการลงทุนก็คือการวางแผนการลงทุน ส่วนใหญ่จะมองกันไปที่ผลตอบแทน แล้วฝันหวานว่าจะได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ พอได้กำไรก็ย่ามใจว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นของง่าย จนในที่สุดก็ถูกตลาดทวงกำไรที่เคยทำได้คืน บางครั้งเลยเถิดไปถึงขาดทุนจนตั้งสติไว้ไม่อยู่ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่ได้วางแผนรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้

     บ้างก็ยืมคำพูดสุดฮิตมาใช้ "กูเป็น VI ไม่ขาย ก็ไม่ขาดทุน" ซึ่งมันจริงครึ่งนึง แต่ลืมไปว่าเวลาก็เป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง ถ้าโชคดีหน่อยราคาหุ้นกลับขึ้นมาจนมีกำไร ก็ยังเสียไปแค่เวลา แต่ถ้านำมาคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีจะคุ้มมั๊ยก็ยังไม่รู้ เช่น นายเม่าน้อยซื้อหุ้น A ราคา 2 บาท "ไม่แพงเลย แค่ 2 บาทเอง แถมยังลงมาจาก 2.5 บาทด้วย ลงมาเยอะแล้ว" โดยไม่ได้วางแผนอะไรไว้เลย พื้นฐานของบริษัท, กราฟ การเคลื่อนไหวของราคา, จะทำยังไงถ้าหุ้นลง หรือขึ้น, จะขายตอนไหน ซื้อตอนไหน ไม่ได้คิดเตรียมไว้เลย คิดแต่ว่ามันถูก ซื้อได้ละเดี๋ยวค่อยไปขายตอนมีกำไรประมาณหนึ่ง ปรากฏว่าผ่านไปไม่กี่วัน หุ้นลงมาที่ 1.8 บาท  คำว่าไม่ขายไม่ขาดทุนก็ถูกนำมาใช้ ผ่านไปอีกเดือนนึง หุ้นลงมา 1.5 บาทและวิ่งวนอยู่แถว ๆ นั้นเป็นปี ๆ .... แน่นอนว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน จนมาอีกปี หุ้นขึ้นมาเป็น 2.2 บาท ไชโย!! เห็นมั๊ยถือไวรอมันขึ้นเดี๋ยวก็ได้กำไรเอง (2 ปี กำไร 10% เฉลี่ยก็ 5% ต่อปี แทบไม่ต่างฝากเงิน หุ้นกู้บางบริษัทยังได้เยอะกว่า) ถ้าโชคร้าย หุ้น A ดันราคาตกและไม่เคยขึ้นมาเกิน 2 บาทเลยตลอด 3 ปีถัดมาจึงตัดใจขาย นอกจากจะขาดทุนแล้ว ยังเสียเวลาไปฟรี ๆ 3 ปี โดยไม่ได้อะไรเลย 

     การวางแผนจะช่วยให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแนวไหนก็ล้วนต้องมีการวางแผนการลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบปรับปรุงแผน พัฒนาวิธีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลงรวมทั้งเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น โดยการทำเป็นวงจร PDCA ไปเรื่อย ๆ 

     P : Plan ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการลงทุน เราต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะซื้อเพราะอะไร ขายเพราะอะไร ถ้าเกิดเหตุการณ์ 1 2 3 ขึ้นจะทำ 1 2 3 อย่างไรบ้าง การวางแผนการลงทุนหุ้นอย่างละเอียดและชัดเจนจะทำให้เราสามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ เพราะเราคิดไว้แล้วว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เราจะทำแบบนี้ ถ้าเหตุการณ์เป็นอีกแบบเราก็จะทำอีกแบบ ต่างกับการไม่วางแผน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอาจทำให้เรารีบตัดสินใจเกินไป เกิดความผิดพลาด หรืออีกกรณีคือตัดสินใจช้าไป ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวความผิดพลาด ก็อาจทำให้พลาดโอกาสไป

     D : Do หลังจากวางแผนแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการดำเนินการให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ข้อนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน หลายคนวางแผนไว้เป็นขั้นตอนอย่างดี พอถึงเวลาจริงกลับไม่ทำตามแผน เพราะกลัว โลภ ไปตามอารมณ์ของตลาด ก็อาจทำให้ผลงานไม่เป็นไปตามแผน หรืออย่างที่คาดหวัง

     C : Check หลังจากได้ทำตามแผนแล้ว ก็ต้องมีการเช็ค ประเมินผลว่าแผนที่เราวางไว้นั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ เป็นไปอย่างที่หวังไว้หรือไม่ หรือเมื่อนำไปเทียบกับผลตอบแทนอ้างอิงอื่น ๆ ถือว่าน่าพอใจหรือไม่ แผนที่วางไว้มีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน

     A : Act หลังตรววจสอบ ประเมินผลงานแล้วก็ต้องปรับปรุงจุดอ่อนต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาวิธีการ แผนการต่าง ๆ เพื่อให้แผนในการลงทุนหรือเทรดหุ้น มีช่องโหว่น้อยลง ความเสี่ยงลดลง ได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจยิ่งขึ้นไป แล้วนำไปเซตใน Plan ต่อไป และดำเนินการตามวงจร P --> D --> C --> A --P เป็นวงล้อนำพาผลตอบแทน ความมั่งคั่งของเราให้สูงขึ้นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ 

     นักลงทุน หรือนักเก็งกำไร ล้วนต้องมีการวางแผน และหมั่นทบทวน พัฒนาวิธีการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ สร้างผลตอบแทนที่ดีได้ จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ตัวบุคคล แต่ยังไงก็ต้องสำเร็จสักวันถ้ามีการวางแผนและพัฒนาปรับปรุงวิธีการอยู่อย่างสม่ำเสมอ ต่างกับแมงเม่าที่หลงคิดว่าตัวเองเป็นเซียน ลงทุนหรือเทรดไปโดยไม่มีแผน ไม่มีการพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการพนัน ที่วันนี้อาจได้กำไร แต่พรุ่งนี้อาจขาดทุนมากกว่ากำไรที่ทำไปได้ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น