PE หาได้จากราคาตลาด ณ ขณะนั้น (Price ; P) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (Earning per Share ; E) แน่นอนว่า P หรือราคาตลาดนั้นหาได้ไม่ยาก ทุกคนที่ลงทุนในหุ้นนั้นต้องรู้อยู่แล้ว ส่วนที่ทำให้แต่ละคน หรือแต่ละแหล่งข้อมูลแสดงค่า PE ที่แตกต่างกันก็คือตัว กำไรต่อหุ้น (E) นั่นเอง บางคนใช้ E ของปีล่าสุด บางคนใช้ 4 ควอเตอร์หลังสุด บางคนคิดเป็น forward PE คือใช้ E ของปีถัดไป, 4 ควอเตอร์ถัดไป ซึ่งหาได้จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจโดยรวมและการเติบโตของบริษัท
มีการถกเถียง และแสดงความเห็นกันอย่างมากมายว่าการใช้ PE ปัจจุบัน กับการใช้ forward PE อย่างไหนจะประเมินความถูกแพงของหุ้นได้ดีกว่า กลุ่มที่บอกว่าการใช้ PE ปัจจุบันดีกว่า ก็บอกว่าข้อเสียของ forward PE ก็คือการคาดเดากำไรในอนาคต ซึ่งแต่ละคนจะประเมินได้ต่างกัน ไม่มีความแน่นอน ต่างกับการใช้ E ซึ่งมาจากงบการเงินซึ่งเป็นกำไรที่แน่นอนออกมาแล้ว ฝั่งที่นิยม forward PE ก็จะเห็นข้อเสียของ PE ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้กำไรในอดีต ซึ่งไม่ได้บ่งบอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
แต่ไม่ว่าคุณจะใช้ PE แบบไหนในการคัดกรองหุ้น สิ่งสำคัญก็คือ PE ที่ใช้ ส่วนของกำไรหรือ E ควรจะคิดจากกำไรจากการดำเนินงานปกติของบริษัท ไม่ใช่กำไรพิเศษที่ได้จากโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตรงนี้เป็นกับดัก PE ที่อาจเล่นงานนักลงทุนภายหลังได้เมื่อไม่มีกำไรพิเศษตรงนี้ E ก็จะลดลง ทำให้ PE สูงขึ้น ที่เราคำนวณโดยรวมกำไรพิเศษในตอนแรกก็จะไม่ถูกอีกต่อไป
forward PE สำหรับบางคน รวมถึงผม จะใช้สำหรับการหาราคาเหมาะสมของหุ้น โดยจะใช้กับหุ้นที่เราศึกษาติดตามหาข้อมูลมาละเอียดพอสมควร เพราะเราต้องประมาณกำไรในอนาคต และจะไม่ใช้ค่ากำไรเพียงค่าเดียวแต่กำหนดไว้เป็นช่วง ส่วนตัวแล้วใช้ 3 ค่าคือ worst normal best เพื่อหาช่วงของราคาที่เหมาะสม แล้วนำไปคำนวณย้อนกลับไปที่ PE ที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับหุ้นตัวนั้นซัก 3 ค่า
นอกจากนี้ ถ้าเราใช้ forward PE เราต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างมากเกี่ยวกับธรรมชาติของธุรกิจของบริษัทว่ามีปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทได้บ้าง เพราะถ้ากำไรต่างจากที่เราวิเคราะห์ไว้ก็จะส่งผลให้การตัดสินใจของเราผิดพลาดได้เลย
ดังนั้นหากเราต้องการใช้ PE แค่เพื่อกรองหาหุ้นที่ยังไม่แพงแบบหยาบ ๆ ก็ควรใช้ PE ใน 4Q ล่าสุด ก็เพียงพอและเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ไม่สามรถกำหนดได้ว่า PE เท่าไหร่ถึงเรียกว่าถูกหรือแพงแล้ว ต้องใช้ประสบการณ์ การเปรียบเทียบ PE ของอุตสาหกรรม การเปรียบเทียบ PE ในอดีต มาใช้เป็นตัวช่วยวัดอีกทางหนึ่ง