วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

CANSLIM - อีกหนึ่งหลักการเลือกหุ้น เพื่อผลตอบแทนที่อัศจรรย์

     CANSLIM เป็นหลักการอย่างหนึ่งในการคัดกรอง, การซื้อ และการขายหุ้น ที่อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ "How to make money in stocks" ซึ่งพัฒนาโดย William O'Niel ผู้ร่วมก่อตั้ง Investor's Business Daily. CANSLIM เป็นตัวย่อของกลยุทธ์การลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก CANSLIM แตกต่างจากกลยุทธ์การลงทุนอื่น ๆ ตรงที่ให้ความสนใจทั้งในสิ่งที่วัดได้ (เชิงปริมาณ) เช่น กำไร และยังให้ความสนใจในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (เชิงคุณภาพ) เช่น ความแข็งแกร่งของบริษัท

     กลยุทธ์การคัดกรอง ซื้อขายหุ้นแบบ CANSLIM นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีตัวอย่างบริษัทมากมายที่เข้า criteria ของ CANSLIM ก่อนที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวลาต่อมา

     ตัวย่อและความหมายของแต่ละตัวใน CANSLIM


 C = Current earnings

     โอนีลให้ความสำคัญในการเลือกหุ้นที่มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  (EPS ; Earning per Share) ในไตรมาสล่าสุดเติบโตจากปีก่อน โดยการเติบโตของ EPS ควรจะเป็นเท่าไหร่นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าค่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม แต่ระบบ CANSLIM แนะนำว่าควรเติบโตไม่ต่ำกว่า 18-20% เมื่อเทียบกับปีก่อน

     กำไรที่ได้ต้องเป็นกำไรที่มีคุณภาพ มีการแสดงตัวเลขอย่างถูกต้อง เป็นมาจากการดำเนินการจริง ๆ เพราะหลาย ๆ บริษัทมีกำไรที่โตขึ้น แต่ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงานปกติ หรืออาจเป็นการใช้วิธีการทางบัญชีทำให้ได้ตัวเลขสูงกว่าความเป็นจริง นักลงทุนต้องเจาะข้อมูลตรงนี้ให้ละเอียด อย่าเพียงแค่ดูตัวเลขที่แสดงในงบกำไรขาดทุน โอนีลกล่าวว่า ถ้าคุณแน่ใจแล้วว่ากำไรของบริษัทนั้นเป็นกำไรที่มีคุณภาพจริง อีกสิ่งที่ควรทำก็คือการเช็คกำไรของบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน กำไรที่เติบโตอย่างมั่นคงของอุตสาหกรรมเป็นสิ่งยืนยันว่าอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง และบริษัทก็พร้อมที่จะทุบสถิติทั้งกำไรและราคา

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Matrix BCG เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

Matrix BCG - แมทริกซ์ บี ซี จี

     เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ผ่านการวิเคราะห์แมทริกซ์ของ “อัตราการเจริญเติบโตของตลาดกับส่วนแบ่งตลาด” (Growth-Share Matrix) ซึ่ง บี ซี จี (BCG หรือ The Boston Consulting Group) ได้นำเสนอขึ้นมา

     โดยแกนตั้งจะแสดง “อัตราการเจริญเติบโตในภาพรวมของตลาดหรือธุรกิจ (Market / Business Growth Rate)” ซึ่งบางตลาดหรือบางธุรกิจอาจขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราสูง ในขณะที่บางตลาดหรือบางธุรกิจมีดีมานด์ที่เพิ่มช้าหรือไม่เพิ่มเลยจึงขยายตัวช้า

     ส่วนแกนนอนจะแสดง “การครองตลาดหรือส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของบริษัท” ซึ่งบางผลิตภัณฑ์หรือบางบริษัทอาจมีส่วนแบ่งตลาดมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในขณะที่บางผลิตภัณฑ์หรือบางบริษัทอาจมีส่วนแบ่งตลาดน้อย

     จากลักษณะการเติบโตของธุรกิจในภาพรวมกับส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์หรือของบริษัท จึงสามารถจำแนกประเภทธุรกิจเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ROE - อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น

     หนึ่งในหลาย ๆ อัตราส่วนที่มีความสำคัญ และใช้เป็นตัววัดความน่าสนใจในการลงทุนอย่างคร่าว ๆ สำหรับนักลงทุนระยะยาวก็คือ ROE (Return on Equity) หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มีสมการง่าย ๆ ว่า

ROE = Net Profit (กำไร) / Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) 

     โดยกำไรเอามาจากงบกำไรขาดทุน สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้น ก็หาได้จากงบดุล โดยปกติแล้วส่วนของผู้ถือหุ้นควรนำค่าตอนต้นปีและปลายปีมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น

     ROE เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถของบริษัทในการนำเงินของผู้ถือหุ้น ไปใช้ในการสร้างผลกำไร อัตราส่วนนี้แสดงค่าเป็น % โดยยิ่งมี % มากยิ่งดี แสดงว่าบริษัทนำส่วนของผู้ถือหุ้นไปใช้สร้างผลตอบแทนกลับคืนมาให้ผู้ถือหุ้นได้มาก เช่น บริษัท A มี ROE 5% บริษัท B มี ROE 15% แสดงว่าบริษัท B มีความน่าสนใจกว่า เพราะนำเงินของผู้ถือหุ้นที่จำนวนเท่า ๆ กัน ไปสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า

     การรักษาระดับ ROE ให้สูงเป็นระยะเวลานานเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากเมื่อบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานและเหลือเป็นกำไรสะสม ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในปีต่อ ๆ ไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทก็ต้องสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กันกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับของ ROE ให้เท่าเดิม ซึ่งบริษัทที่จะทำแบบนี้ได้ต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงระดับหนึ่งเลย

     นอกจากนี้ บางบริษัทอาจทำให้ ROE สูงขึ้นได้จากการกู้ยืม ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าบริษัทที่ไม่ได้กู้ยืม เช่น 
     บริษัท A มีกำไร 150 ไม่มีหนี้สินระยะยาว มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,000 ROE = 15% 
     บริษัท B มีกำไร 200 มีหนี้สินระยะยาว 1,000 มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,000 ROE = 20% 
     
     จะเห็นได้ว่าบริษัท B มี ROE สูงกว่าบริษัท A แต่มีหนี้สินพอ ๆ กับส่วนของผู้ถือหุ้น ในขณะที่บริษัท A ไม่มีหนี้เลย ดังนั้นการเปรียบเทียบว่าบริษัทใดน่าสนใจกว่า โดยการใช้ ROE เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

     และจากตัวอย่างที่ผ่านมาจึงทำให้มีอีกหนึ่งอัตราส่วนที่น่าสนใจนำมาใช้เปรียบเทียบบริษัทในกรณีดังกล่าวได้คือ ROTC (Return on Total Capital) หาได้จาก 

ROTC = Net Profit / (Long term Liability + Equity) 
(กำไรสุทธิหารด้วยผลรวมของหนี้สินระยะยาวกับส่วนของผู้ถือหุ้น)

     จากตัวอย่างเดิมจะได้
     บริษัท A มี ROTC = 150/(0+1,000) = 15%
     บริษัท B มี ROTC = 200/(1,000 + 1,000) = 10%

     ซึ่งเมื่อนำมาใช้คู่กับ ROE จะทำให้มองเห็นภาพการสร้างผลตอบแทนของบริษัทได้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น เพราะบางบริษัทถ้าดูแต่ ROE อาจมีค่าสูงกว่าอีกบริษัท แต่พอมาดู ROTC อาจมีค่าต่ำกว่าก็ได้ 

     ROE ของบริษัทยังอาจมีค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ ROE สูงขึ้นทันที ซึ่งเป็น ROE ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติของบริษัท เราจึงควรดูที่มาของ ROE ด้วยว่าคิดมาจากการดำเนินงานปกติของบริษัทหรือไม่

     นอกจากนี้ ROE ของบริษัทควรมีความสม่ำเสมอ ถ้า ROE มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป ก็สันนิษฐานได้ว่าบริษัทนั้นน่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรกำไรขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นรอบ ๆ ไม่แน่นอน ลองสำรวจ ROE ย้อนหลังไปหลาย ๆ ปีก็จะพบว่าขึ้น ๆ ลง ๆ ในรูปแบบเดียวกัน

     สรุป : เมื่อเราใช้ ROE เป็นส่วนหนึ่งในการเปรียบเทียบความน่าสนใจของหุ้น หุ้นที่มี ROE สูงกว่าจะมีความน่าสนใจกว่า เพราะสามารถนำส่วนของผู้ถือหุ้นไปสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า ROE ของบริษัทนั้นควรมีความสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคง และไม่ควรใช้ ROE ในการเปรียบเทียบบริษัทเพียงอย่างเดียว ควรใช้ ROTC ด้วย เพื่อที่จะได้เห็นภาพของบริษัทอย่างถูกต้อง

สรุปย่อ และทบทวนด้วยภาษาของตัวเอง จากแหล่งข้อมูล :
"ROE สำคัญกับการลงทุนอย่างไร"
Value Way
วิบูลย์ พึงประเสริฐ

PDCA ... Plan, Do, Check, and Act

     สิ่งที่นักลงทุนหน้าใหม่ รวมทั้งแมงเม่าหน้าเก่าในตลาดหุ้น มักจะมองข้ามไปในการลงทุนก็คือการวางแผนการลงทุน ส่วนใหญ่จะมองกันไปที่ผลตอบแทน แล้วฝันหวานว่าจะได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ พอได้กำไรก็ย่ามใจว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นของง่าย จนในที่สุดก็ถูกตลาดทวงกำไรที่เคยทำได้คืน บางครั้งเลยเถิดไปถึงขาดทุนจนตั้งสติไว้ไม่อยู่ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่ได้วางแผนรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้

     บ้างก็ยืมคำพูดสุดฮิตมาใช้ "กูเป็น VI ไม่ขาย ก็ไม่ขาดทุน" ซึ่งมันจริงครึ่งนึง แต่ลืมไปว่าเวลาก็เป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง ถ้าโชคดีหน่อยราคาหุ้นกลับขึ้นมาจนมีกำไร ก็ยังเสียไปแค่เวลา แต่ถ้านำมาคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีจะคุ้มมั๊ยก็ยังไม่รู้ เช่น นายเม่าน้อยซื้อหุ้น A ราคา 2 บาท "ไม่แพงเลย แค่ 2 บาทเอง แถมยังลงมาจาก 2.5 บาทด้วย ลงมาเยอะแล้ว" โดยไม่ได้วางแผนอะไรไว้เลย พื้นฐานของบริษัท, กราฟ การเคลื่อนไหวของราคา, จะทำยังไงถ้าหุ้นลง หรือขึ้น, จะขายตอนไหน ซื้อตอนไหน ไม่ได้คิดเตรียมไว้เลย คิดแต่ว่ามันถูก ซื้อได้ละเดี๋ยวค่อยไปขายตอนมีกำไรประมาณหนึ่ง ปรากฏว่าผ่านไปไม่กี่วัน หุ้นลงมาที่ 1.8 บาท  คำว่าไม่ขายไม่ขาดทุนก็ถูกนำมาใช้ ผ่านไปอีกเดือนนึง หุ้นลงมา 1.5 บาทและวิ่งวนอยู่แถว ๆ นั้นเป็นปี ๆ .... แน่นอนว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน จนมาอีกปี หุ้นขึ้นมาเป็น 2.2 บาท ไชโย!! เห็นมั๊ยถือไวรอมันขึ้นเดี๋ยวก็ได้กำไรเอง (2 ปี กำไร 10% เฉลี่ยก็ 5% ต่อปี แทบไม่ต่างฝากเงิน หุ้นกู้บางบริษัทยังได้เยอะกว่า) ถ้าโชคร้าย หุ้น A ดันราคาตกและไม่เคยขึ้นมาเกิน 2 บาทเลยตลอด 3 ปีถัดมาจึงตัดใจขาย นอกจากจะขาดทุนแล้ว ยังเสียเวลาไปฟรี ๆ 3 ปี โดยไม่ได้อะไรเลย 

     การวางแผนจะช่วยให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแนวไหนก็ล้วนต้องมีการวางแผนการลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบปรับปรุงแผน พัฒนาวิธีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลงรวมทั้งเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น โดยการทำเป็นวงจร PDCA ไปเรื่อย ๆ 

     P : Plan ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการลงทุน เราต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะซื้อเพราะอะไร ขายเพราะอะไร ถ้าเกิดเหตุการณ์ 1 2 3 ขึ้นจะทำ 1 2 3 อย่างไรบ้าง การวางแผนการลงทุนหุ้นอย่างละเอียดและชัดเจนจะทำให้เราสามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ เพราะเราคิดไว้แล้วว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เราจะทำแบบนี้ ถ้าเหตุการณ์เป็นอีกแบบเราก็จะทำอีกแบบ ต่างกับการไม่วางแผน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอาจทำให้เรารีบตัดสินใจเกินไป เกิดความผิดพลาด หรืออีกกรณีคือตัดสินใจช้าไป ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวความผิดพลาด ก็อาจทำให้พลาดโอกาสไป

     D : Do หลังจากวางแผนแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการดำเนินการให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ข้อนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน หลายคนวางแผนไว้เป็นขั้นตอนอย่างดี พอถึงเวลาจริงกลับไม่ทำตามแผน เพราะกลัว โลภ ไปตามอารมณ์ของตลาด ก็อาจทำให้ผลงานไม่เป็นไปตามแผน หรืออย่างที่คาดหวัง

     C : Check หลังจากได้ทำตามแผนแล้ว ก็ต้องมีการเช็ค ประเมินผลว่าแผนที่เราวางไว้นั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ เป็นไปอย่างที่หวังไว้หรือไม่ หรือเมื่อนำไปเทียบกับผลตอบแทนอ้างอิงอื่น ๆ ถือว่าน่าพอใจหรือไม่ แผนที่วางไว้มีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน

     A : Act หลังตรววจสอบ ประเมินผลงานแล้วก็ต้องปรับปรุงจุดอ่อนต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาวิธีการ แผนการต่าง ๆ เพื่อให้แผนในการลงทุนหรือเทรดหุ้น มีช่องโหว่น้อยลง ความเสี่ยงลดลง ได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจยิ่งขึ้นไป แล้วนำไปเซตใน Plan ต่อไป และดำเนินการตามวงจร P --> D --> C --> A --P เป็นวงล้อนำพาผลตอบแทน ความมั่งคั่งของเราให้สูงขึ้นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ 

     นักลงทุน หรือนักเก็งกำไร ล้วนต้องมีการวางแผน และหมั่นทบทวน พัฒนาวิธีการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ สร้างผลตอบแทนที่ดีได้ จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ตัวบุคคล แต่ยังไงก็ต้องสำเร็จสักวันถ้ามีการวางแผนและพัฒนาปรับปรุงวิธีการอยู่อย่างสม่ำเสมอ ต่างกับแมงเม่าที่หลงคิดว่าตัวเองเป็นเซียน ลงทุนหรือเทรดไปโดยไม่มีแผน ไม่มีการพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการพนัน ที่วันนี้อาจได้กำไร แต่พรุ่งนี้อาจขาดทุนมากกว่ากำไรที่ทำไปได้ก็ได้