วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

Descending Triangle

     Descending Triangle เป็น Bearish Formation สามเหลี่ยมนี้มักจะเกิดในขาลงของราคาหุ้น เป็น continuation pattern แสดงถึงการลงต่อเนื่องของราคาหุ้น แต่ก็มีบางกรณีที่ Descending triangle เกิดใน uptrend เป็น reversal pattern แสดงถึงการจบรอบของ uptrend นั้น สามเหลี่ยมนี้บ่งบอกว่าหุ้นอยู่ในช่วง distribution

     รูปร่างของแพทเทิร์นนี้ก็จะเป็นสามเหลี่ยมที่มีฐานเป็นเส้นตรงแนวขวางอยู่ด้านล่าง เกิดจาก
1. จุด low ของกราฟที่ราคาเท่ากันหรือใกล้เคียงกันสองจุดหรือมากกว่า เกิดเป็นแนว Support
2. เส้นสัมผัสกับ high ที่ลดลงของกราฟราคาอย่างน้อยสองจุด เป็นเส้น Resistant ที่ลดลงมาเรื่อย ๆ
   

  • Trend เนื่องจากรูปแบบนี้เป็น Contiuation Pattern จึงควรเกิด Trend มาก่อนหน้าที่จะเกิดรูปแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้ถือเป็น Bearish Formation อยู่แล้ว  ความแรงหรือระยะเวลาของ Trend ก่อนหน้าก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการ form ตัวให้ได้ pattern ที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ

วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

Ichimoku Cloud - Indicator อเนกประสงค์

     Ichimoku Cloud หรือที่รู้จักกันในชื่อ Ichimoku Kinko Hyo ถือเป็น indicator อเนกประสงค์ ที่สามารถใช้สำหรับกำหนดแนวรับ แนวต้าน, ใช้สำหรับบอกเทรนด์, วัดความแรงของการเคลื่อนไหวของราคา และใช้หาสัญญาณซื้อขายได้

ภาพจาก stockcharts.com

     1. Tenkan-sen (Conversion line) : (9 period high + 9 period low)/2
     2. Kijun-sen (Base line) : (26 period high + 26 period low)/2
     3. Senkou Span A (Leading Span A) : (Conversion line + Base line)/2 และพล็อตค่าล่วงหน้าไป 26 period
     4. Senkou Span B (Leading Span B) : (52 period high + 52 period low)/2 และพล็อตค่าล่วงหน้าไป 26 period
     5. Chiku Span (Lagging Span) : ราคาปิด พล็อตย้อนหลังไป 26 period

     กลุ่มเมฆ (Kumo) เป็นส่วนที่โดดเด่นของ indicator นี้ เกิดจากระยะห่างของสองเส้นคือ
 Leading Span A กับ Leading Span B ฟอร์มเป็นกลุ่มเมฆ ซึ่งเราสามารถนำมาใช้บ่งชี้เทรนด์ของหุ้นได้ 2 วิธีคือ 1. หุ้นอยู่ในขาขึ้นเมื่อราคาอยู่เหนือก้อนเมฆ ถ้าราคาอยู่ใต้ก้อนเมฆจะเป็นทิศทางขาลง ถ้าอยู่ในก้อนเมฆจะอยู่ในทิศทาง sideway 2. หุ้นจะอยู่ใน uptrend เมื่อ Leading Span A วิ่งขึ้นอยู่เหนือ Leading Span B ซึ่งจะทำให้เกิดกลุ่มเมฆสีเขียว ในทางกลับกัน ถ้า Leading Span A วิ่งลงใต้เส้น Leading Span B ทำให้เกินกลุ่มเมฆสีแดง เป็นการแสดงทิศทางราคาขาลง และเนื่องจากกลุ่มเมฆนี้จะสร้างขึ้นที่ 26 period ถัดจากปัจจุบัน ทำให้เราใช้เป็นเส้น support, resistant ในอนาคตได้

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

Symetrical Triangle

  Symetrical Triangle

     เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาที่แกว่งขึ้นลงเข้าหาจุด ๆ หนึ่ง โดยระยะของการแกว่งตัวจะแคบลงเรื่อย ๆ เมื่อลาก Trend line สองเส้น เส้นหนึ่งผ่าน high ของจุดกลับตัว อีกเส้นผ่าน low ของจุดกลับตัว (ที่จุดกลับตัวแต่ละครั้งจะมี lower high และ higher low) เส้น Trend line นี้จะมาบรรจบกันเป็นสามเหลี่ยม      
     พอถึงจุดหนึ่งที่ราคาเกิดการ break แนว Trend line ที่ลากไว้ ก็จะเกิดการขยับตัวขึ้นหรือลงของราคาอย่างรวดเร็ว Symetrical Triangle ถือว่าเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาที่น่าเชื่อถือรูปแบบหนึ่ง เมื่อราคาหุ้นเคลื่อนไหวในรูปแบบนี้ ควรจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อรอดูการ Break out ยิ่งเห็นการทะลุขึ้นมาของราคาเร็วกว่า ก็ยิ่งมีโอกาสได้กำไรสูงกว่า

     รูปแบบราคาแบบ Symetrical Triangle มักจะเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นโดยใช้เวลาในระยะปานกลาง โดยส่วนใหญ่แล้วจะมากกว่า 1 เดือน ในการสร้างรูปแบบสามเหลี่ยมนี้ และบางครั้ง pattern นี้ก็กินเวลามากกว่าสามเดือน แต่ถ้าหารูปแบบนี้ใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนแล้วเกิดการ break out ก็มักจะมีการขยับของราคาไปในทิศทางที่มัน break out เป็น trend อย่างต่อเนื่อง

ข้อสังเกต

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

CANSLIM - อีกหนึ่งหลักการเลือกหุ้น เพื่อผลตอบแทนที่อัศจรรย์

     CANSLIM เป็นหลักการอย่างหนึ่งในการคัดกรอง, การซื้อ และการขายหุ้น ที่อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ "How to make money in stocks" ซึ่งพัฒนาโดย William O'Niel ผู้ร่วมก่อตั้ง Investor's Business Daily. CANSLIM เป็นตัวย่อของกลยุทธ์การลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก CANSLIM แตกต่างจากกลยุทธ์การลงทุนอื่น ๆ ตรงที่ให้ความสนใจทั้งในสิ่งที่วัดได้ (เชิงปริมาณ) เช่น กำไร และยังให้ความสนใจในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (เชิงคุณภาพ) เช่น ความแข็งแกร่งของบริษัท

     กลยุทธ์การคัดกรอง ซื้อขายหุ้นแบบ CANSLIM นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีตัวอย่างบริษัทมากมายที่เข้า criteria ของ CANSLIM ก่อนที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวลาต่อมา

     ตัวย่อและความหมายของแต่ละตัวใน CANSLIM


 C = Current earnings

     โอนีลให้ความสำคัญในการเลือกหุ้นที่มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  (EPS ; Earning per Share) ในไตรมาสล่าสุดเติบโตจากปีก่อน โดยการเติบโตของ EPS ควรจะเป็นเท่าไหร่นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าค่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม แต่ระบบ CANSLIM แนะนำว่าควรเติบโตไม่ต่ำกว่า 18-20% เมื่อเทียบกับปีก่อน

     กำไรที่ได้ต้องเป็นกำไรที่มีคุณภาพ มีการแสดงตัวเลขอย่างถูกต้อง เป็นมาจากการดำเนินการจริง ๆ เพราะหลาย ๆ บริษัทมีกำไรที่โตขึ้น แต่ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงานปกติ หรืออาจเป็นการใช้วิธีการทางบัญชีทำให้ได้ตัวเลขสูงกว่าความเป็นจริง นักลงทุนต้องเจาะข้อมูลตรงนี้ให้ละเอียด อย่าเพียงแค่ดูตัวเลขที่แสดงในงบกำไรขาดทุน โอนีลกล่าวว่า ถ้าคุณแน่ใจแล้วว่ากำไรของบริษัทนั้นเป็นกำไรที่มีคุณภาพจริง อีกสิ่งที่ควรทำก็คือการเช็คกำไรของบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน กำไรที่เติบโตอย่างมั่นคงของอุตสาหกรรมเป็นสิ่งยืนยันว่าอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง และบริษัทก็พร้อมที่จะทุบสถิติทั้งกำไรและราคา

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Matrix BCG เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

Matrix BCG - แมทริกซ์ บี ซี จี

     เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ผ่านการวิเคราะห์แมทริกซ์ของ “อัตราการเจริญเติบโตของตลาดกับส่วนแบ่งตลาด” (Growth-Share Matrix) ซึ่ง บี ซี จี (BCG หรือ The Boston Consulting Group) ได้นำเสนอขึ้นมา

     โดยแกนตั้งจะแสดง “อัตราการเจริญเติบโตในภาพรวมของตลาดหรือธุรกิจ (Market / Business Growth Rate)” ซึ่งบางตลาดหรือบางธุรกิจอาจขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราสูง ในขณะที่บางตลาดหรือบางธุรกิจมีดีมานด์ที่เพิ่มช้าหรือไม่เพิ่มเลยจึงขยายตัวช้า

     ส่วนแกนนอนจะแสดง “การครองตลาดหรือส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของบริษัท” ซึ่งบางผลิตภัณฑ์หรือบางบริษัทอาจมีส่วนแบ่งตลาดมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในขณะที่บางผลิตภัณฑ์หรือบางบริษัทอาจมีส่วนแบ่งตลาดน้อย

     จากลักษณะการเติบโตของธุรกิจในภาพรวมกับส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์หรือของบริษัท จึงสามารถจำแนกประเภทธุรกิจเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ROE - อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น

     หนึ่งในหลาย ๆ อัตราส่วนที่มีความสำคัญ และใช้เป็นตัววัดความน่าสนใจในการลงทุนอย่างคร่าว ๆ สำหรับนักลงทุนระยะยาวก็คือ ROE (Return on Equity) หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มีสมการง่าย ๆ ว่า

ROE = Net Profit (กำไร) / Equity (ส่วนของผู้ถือหุ้น) 

     โดยกำไรเอามาจากงบกำไรขาดทุน สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้น ก็หาได้จากงบดุล โดยปกติแล้วส่วนของผู้ถือหุ้นควรนำค่าตอนต้นปีและปลายปีมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น

     ROE เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถของบริษัทในการนำเงินของผู้ถือหุ้น ไปใช้ในการสร้างผลกำไร อัตราส่วนนี้แสดงค่าเป็น % โดยยิ่งมี % มากยิ่งดี แสดงว่าบริษัทนำส่วนของผู้ถือหุ้นไปใช้สร้างผลตอบแทนกลับคืนมาให้ผู้ถือหุ้นได้มาก เช่น บริษัท A มี ROE 5% บริษัท B มี ROE 15% แสดงว่าบริษัท B มีความน่าสนใจกว่า เพราะนำเงินของผู้ถือหุ้นที่จำนวนเท่า ๆ กัน ไปสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า

     การรักษาระดับ ROE ให้สูงเป็นระยะเวลานานเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากเมื่อบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานและเหลือเป็นกำไรสะสม ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในปีต่อ ๆ ไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทก็ต้องสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กันกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับของ ROE ให้เท่าเดิม ซึ่งบริษัทที่จะทำแบบนี้ได้ต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงระดับหนึ่งเลย

     นอกจากนี้ บางบริษัทอาจทำให้ ROE สูงขึ้นได้จากการกู้ยืม ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าบริษัทที่ไม่ได้กู้ยืม เช่น 
     บริษัท A มีกำไร 150 ไม่มีหนี้สินระยะยาว มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,000 ROE = 15% 
     บริษัท B มีกำไร 200 มีหนี้สินระยะยาว 1,000 มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,000 ROE = 20% 
     
     จะเห็นได้ว่าบริษัท B มี ROE สูงกว่าบริษัท A แต่มีหนี้สินพอ ๆ กับส่วนของผู้ถือหุ้น ในขณะที่บริษัท A ไม่มีหนี้เลย ดังนั้นการเปรียบเทียบว่าบริษัทใดน่าสนใจกว่า โดยการใช้ ROE เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

     และจากตัวอย่างที่ผ่านมาจึงทำให้มีอีกหนึ่งอัตราส่วนที่น่าสนใจนำมาใช้เปรียบเทียบบริษัทในกรณีดังกล่าวได้คือ ROTC (Return on Total Capital) หาได้จาก 

ROTC = Net Profit / (Long term Liability + Equity) 
(กำไรสุทธิหารด้วยผลรวมของหนี้สินระยะยาวกับส่วนของผู้ถือหุ้น)

     จากตัวอย่างเดิมจะได้
     บริษัท A มี ROTC = 150/(0+1,000) = 15%
     บริษัท B มี ROTC = 200/(1,000 + 1,000) = 10%

     ซึ่งเมื่อนำมาใช้คู่กับ ROE จะทำให้มองเห็นภาพการสร้างผลตอบแทนของบริษัทได้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น เพราะบางบริษัทถ้าดูแต่ ROE อาจมีค่าสูงกว่าอีกบริษัท แต่พอมาดู ROTC อาจมีค่าต่ำกว่าก็ได้ 

     ROE ของบริษัทยังอาจมีค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ ROE สูงขึ้นทันที ซึ่งเป็น ROE ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติของบริษัท เราจึงควรดูที่มาของ ROE ด้วยว่าคิดมาจากการดำเนินงานปกติของบริษัทหรือไม่

     นอกจากนี้ ROE ของบริษัทควรมีความสม่ำเสมอ ถ้า ROE มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป ก็สันนิษฐานได้ว่าบริษัทนั้นน่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรกำไรขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นรอบ ๆ ไม่แน่นอน ลองสำรวจ ROE ย้อนหลังไปหลาย ๆ ปีก็จะพบว่าขึ้น ๆ ลง ๆ ในรูปแบบเดียวกัน

     สรุป : เมื่อเราใช้ ROE เป็นส่วนหนึ่งในการเปรียบเทียบความน่าสนใจของหุ้น หุ้นที่มี ROE สูงกว่าจะมีความน่าสนใจกว่า เพราะสามารถนำส่วนของผู้ถือหุ้นไปสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า ROE ของบริษัทนั้นควรมีความสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคง และไม่ควรใช้ ROE ในการเปรียบเทียบบริษัทเพียงอย่างเดียว ควรใช้ ROTC ด้วย เพื่อที่จะได้เห็นภาพของบริษัทอย่างถูกต้อง

สรุปย่อ และทบทวนด้วยภาษาของตัวเอง จากแหล่งข้อมูล :
"ROE สำคัญกับการลงทุนอย่างไร"
Value Way
วิบูลย์ พึงประเสริฐ

PDCA ... Plan, Do, Check, and Act

     สิ่งที่นักลงทุนหน้าใหม่ รวมทั้งแมงเม่าหน้าเก่าในตลาดหุ้น มักจะมองข้ามไปในการลงทุนก็คือการวางแผนการลงทุน ส่วนใหญ่จะมองกันไปที่ผลตอบแทน แล้วฝันหวานว่าจะได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ พอได้กำไรก็ย่ามใจว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นของง่าย จนในที่สุดก็ถูกตลาดทวงกำไรที่เคยทำได้คืน บางครั้งเลยเถิดไปถึงขาดทุนจนตั้งสติไว้ไม่อยู่ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่ได้วางแผนรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้

     บ้างก็ยืมคำพูดสุดฮิตมาใช้ "กูเป็น VI ไม่ขาย ก็ไม่ขาดทุน" ซึ่งมันจริงครึ่งนึง แต่ลืมไปว่าเวลาก็เป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง ถ้าโชคดีหน่อยราคาหุ้นกลับขึ้นมาจนมีกำไร ก็ยังเสียไปแค่เวลา แต่ถ้านำมาคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีจะคุ้มมั๊ยก็ยังไม่รู้ เช่น นายเม่าน้อยซื้อหุ้น A ราคา 2 บาท "ไม่แพงเลย แค่ 2 บาทเอง แถมยังลงมาจาก 2.5 บาทด้วย ลงมาเยอะแล้ว" โดยไม่ได้วางแผนอะไรไว้เลย พื้นฐานของบริษัท, กราฟ การเคลื่อนไหวของราคา, จะทำยังไงถ้าหุ้นลง หรือขึ้น, จะขายตอนไหน ซื้อตอนไหน ไม่ได้คิดเตรียมไว้เลย คิดแต่ว่ามันถูก ซื้อได้ละเดี๋ยวค่อยไปขายตอนมีกำไรประมาณหนึ่ง ปรากฏว่าผ่านไปไม่กี่วัน หุ้นลงมาที่ 1.8 บาท  คำว่าไม่ขายไม่ขาดทุนก็ถูกนำมาใช้ ผ่านไปอีกเดือนนึง หุ้นลงมา 1.5 บาทและวิ่งวนอยู่แถว ๆ นั้นเป็นปี ๆ .... แน่นอนว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน จนมาอีกปี หุ้นขึ้นมาเป็น 2.2 บาท ไชโย!! เห็นมั๊ยถือไวรอมันขึ้นเดี๋ยวก็ได้กำไรเอง (2 ปี กำไร 10% เฉลี่ยก็ 5% ต่อปี แทบไม่ต่างฝากเงิน หุ้นกู้บางบริษัทยังได้เยอะกว่า) ถ้าโชคร้าย หุ้น A ดันราคาตกและไม่เคยขึ้นมาเกิน 2 บาทเลยตลอด 3 ปีถัดมาจึงตัดใจขาย นอกจากจะขาดทุนแล้ว ยังเสียเวลาไปฟรี ๆ 3 ปี โดยไม่ได้อะไรเลย 

     การวางแผนจะช่วยให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแนวไหนก็ล้วนต้องมีการวางแผนการลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบปรับปรุงแผน พัฒนาวิธีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลงรวมทั้งเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น โดยการทำเป็นวงจร PDCA ไปเรื่อย ๆ 

     P : Plan ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการลงทุน เราต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะซื้อเพราะอะไร ขายเพราะอะไร ถ้าเกิดเหตุการณ์ 1 2 3 ขึ้นจะทำ 1 2 3 อย่างไรบ้าง การวางแผนการลงทุนหุ้นอย่างละเอียดและชัดเจนจะทำให้เราสามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ เพราะเราคิดไว้แล้วว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เราจะทำแบบนี้ ถ้าเหตุการณ์เป็นอีกแบบเราก็จะทำอีกแบบ ต่างกับการไม่วางแผน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอาจทำให้เรารีบตัดสินใจเกินไป เกิดความผิดพลาด หรืออีกกรณีคือตัดสินใจช้าไป ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวความผิดพลาด ก็อาจทำให้พลาดโอกาสไป

     D : Do หลังจากวางแผนแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการดำเนินการให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ข้อนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน หลายคนวางแผนไว้เป็นขั้นตอนอย่างดี พอถึงเวลาจริงกลับไม่ทำตามแผน เพราะกลัว โลภ ไปตามอารมณ์ของตลาด ก็อาจทำให้ผลงานไม่เป็นไปตามแผน หรืออย่างที่คาดหวัง

     C : Check หลังจากได้ทำตามแผนแล้ว ก็ต้องมีการเช็ค ประเมินผลว่าแผนที่เราวางไว้นั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ เป็นไปอย่างที่หวังไว้หรือไม่ หรือเมื่อนำไปเทียบกับผลตอบแทนอ้างอิงอื่น ๆ ถือว่าน่าพอใจหรือไม่ แผนที่วางไว้มีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน

     A : Act หลังตรววจสอบ ประเมินผลงานแล้วก็ต้องปรับปรุงจุดอ่อนต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาวิธีการ แผนการต่าง ๆ เพื่อให้แผนในการลงทุนหรือเทรดหุ้น มีช่องโหว่น้อยลง ความเสี่ยงลดลง ได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจยิ่งขึ้นไป แล้วนำไปเซตใน Plan ต่อไป และดำเนินการตามวงจร P --> D --> C --> A --P เป็นวงล้อนำพาผลตอบแทน ความมั่งคั่งของเราให้สูงขึ้นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ 

     นักลงทุน หรือนักเก็งกำไร ล้วนต้องมีการวางแผน และหมั่นทบทวน พัฒนาวิธีการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ สร้างผลตอบแทนที่ดีได้ จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ตัวบุคคล แต่ยังไงก็ต้องสำเร็จสักวันถ้ามีการวางแผนและพัฒนาปรับปรุงวิธีการอยู่อย่างสม่ำเสมอ ต่างกับแมงเม่าที่หลงคิดว่าตัวเองเป็นเซียน ลงทุนหรือเทรดไปโดยไม่มีแผน ไม่มีการพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการพนัน ที่วันนี้อาจได้กำไร แต่พรุ่งนี้อาจขาดทุนมากกว่ากำไรที่ทำไปได้ก็ได้

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

PE กับการวัดความถูกแพงของหุ้น

     PE ( Price to Earning ratio) หรืออัตราส่วนราคา ต่อ กำไรต่อหุ้น เป็นตะแกรงร่อนหุ้นในเชิงปริมาณอย่างหยาบ ๆ  เป็นอัตราส่วนที่นักลงทุนนิยมใช้กัน เพราะเป็นอัตราส่วนที่คำนวณได้ง่าย 

     PE หาได้จากราคาตลาด ณ ขณะนั้น (Price ; P) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (Earning per Share ; E) แน่นอนว่า P หรือราคาตลาดนั้นหาได้ไม่ยาก ทุกคนที่ลงทุนในหุ้นนั้นต้องรู้อยู่แล้ว ส่วนที่ทำให้แต่ละคน หรือแต่ละแหล่งข้อมูลแสดงค่า PE ที่แตกต่างกันก็คือตัว กำไรต่อหุ้น (E) นั่นเอง บางคนใช้ E ของปีล่าสุด บางคนใช้ 4 ควอเตอร์หลังสุด บางคนคิดเป็น forward PE คือใช้ E ของปีถัดไป, 4 ควอเตอร์ถัดไป ซึ่งหาได้จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจโดยรวมและการเติบโตของบริษัท

     มีการถกเถียง และแสดงความเห็นกันอย่างมากมายว่าการใช้ PE ปัจจุบัน กับการใช้ forward PE อย่างไหนจะประเมินความถูกแพงของหุ้นได้ดีกว่า กลุ่มที่บอกว่าการใช้ PE ปัจจุบันดีกว่า ก็บอกว่าข้อเสียของ forward PE ก็คือการคาดเดากำไรในอนาคต ซึ่งแต่ละคนจะประเมินได้ต่างกัน ไม่มีความแน่นอน ต่างกับการใช้ E ซึ่งมาจากงบการเงินซึ่งเป็นกำไรที่แน่นอนออกมาแล้ว ฝั่งที่นิยม forward PE ก็จะเห็นข้อเสียของ PE ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้กำไรในอดีต ซึ่งไม่ได้บ่งบอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

     แต่ไม่ว่าคุณจะใช้ PE แบบไหนในการคัดกรองหุ้น สิ่งสำคัญก็คือ PE ที่ใช้ ส่วนของกำไรหรือ E ควรจะคิดจากกำไรจากการดำเนินงานปกติของบริษัท ไม่ใช่กำไรพิเศษที่ได้จากโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งตรงนี้เป็นกับดัก PE ที่อาจเล่นงานนักลงทุนภายหลังได้เมื่อไม่มีกำไรพิเศษตรงนี้ E ก็จะลดลง ทำให้ PE สูงขึ้น ที่เราคำนวณโดยรวมกำไรพิเศษในตอนแรกก็จะไม่ถูกอีกต่อไป

     forward PE สำหรับบางคน รวมถึงผม จะใช้สำหรับการหาราคาเหมาะสมของหุ้น โดยจะใช้กับหุ้นที่เราศึกษาติดตามหาข้อมูลมาละเอียดพอสมควร เพราะเราต้องประมาณกำไรในอนาคต และจะไม่ใช้ค่ากำไรเพียงค่าเดียวแต่กำหนดไว้เป็นช่วง ส่วนตัวแล้วใช้ 3 ค่าคือ worst normal best เพื่อหาช่วงของราคาที่เหมาะสม แล้วนำไปคำนวณย้อนกลับไปที่ PE ที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับหุ้นตัวนั้นซัก 3 ค่า

     นอกจากนี้ ถ้าเราใช้ forward PE เราต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างมากเกี่ยวกับธรรมชาติของธุรกิจของบริษัทว่ามีปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทได้บ้าง เพราะถ้ากำไรต่างจากที่เราวิเคราะห์ไว้ก็จะส่งผลให้การตัดสินใจของเราผิดพลาดได้เลย 

     ดังนั้นหากเราต้องการใช้ PE แค่เพื่อกรองหาหุ้นที่ยังไม่แพงแบบหยาบ ๆ ก็ควรใช้ PE ใน 4Q ล่าสุด ก็เพียงพอและเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ไม่สามรถกำหนดได้ว่า PE เท่าไหร่ถึงเรียกว่าถูกหรือแพงแล้ว ต้องใช้ประสบการณ์ การเปรียบเทียบ PE ของอุตสาหกรรม การเปรียบเทียบ PE ในอดีต มาใช้เป็นตัวช่วยวัดอีกทางหนึ่ง